วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเขียนโครงการวิจัย

การเขียนเค้าโครงการวิจัยและรายงานการวิจัย (Writing Research Proposal and Research Report)
ตอนที่ 1 การเขียนเค้าโครงการวิจัย
                เค้าโครงการวิจัย หรือโครงร่างการวิจัย หมายถึง แผนการดำเนินงานอย่างมีระบบที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในการจะทำวิจัย
ความสำคัญ
1.               เปรียบเสมือนเป็นพิมพ์เขียว (Blue Print) ของการทำวิจัย เป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า
2.               เป็นแนวทางที่จะแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา หรืออุปสรรคกลางคัน
3.               ทำให้เราทราบค่าใช้จ่าย และสิ่งที่จำเป็นต่าง ๆ ล่วงหน้า
4.               เป็นเครื่องแสดงให้ผู้พิจารณาได้มีแนวทางที่จะพิจารณาอนุมัติให้ทำวิจัย
5.               เป็นเครื่องแสดงให้ผู้ให้ทุนทำวิจัยได้พิจารณาว่า ควรจะอนุมัติหรือไม่
รูปแบบของเค้าโครงการวิจัย
                อาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันหรือหน่วยงาน อย่างไรก็ตามเค้าโครงการวิจัยมักจะประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1.               ชื่อเรื่อง
2.               เนื้อหา
                        บทนำ
                        วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
                        วิธีการดำเนินการวิจัย
3.               ส่วนประกอบอื่น ๆ
                        แผนการวิจัย (Research Plan)
                        งบประมาณ
                        บรรณานุกรม
                        ประวัติผู้วิจัย
บทที่ 1 ชื่อเรื่อง ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์จะต้องเขียนชื่อเรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ วิธีเขียนชื่อเรื่องควรเลือกใช้ถ้อยคำที่กะทัดรัด สามารถสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดของผู้วิจัยเกี่ยวกับปัญหาที่จะทำการศึกษาได้ว่าจะศึกษาอะไร กับใคร ที่ไหน
ตัวอย่าง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นในการเที่ยวกลางคืนในกรุงเทพมหานคร (ศึกษาเฉพาะกรณี เขตดุสิต)
                ความพึงพอใจของพนักงานฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ต่อสวัสดิการจากการย้ายฐานปฏิบัติการสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
                ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการ Fitness Center ของประชากรในกรุงเทพมหานคร
บทนำ
1.               ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา การเขียนเค้าโครงการวิจัยอาจใช้หัวข้อนี้ว่า หลักการและเหตุผล หรือ ความเป็นมาของปัญหา การเขียนความสำคัญของปัญหานั้นจะต้องเขียนให้ทราบว่าปัญหานั้นมีที่มาอย่างไร มีสภาพการณ์อย่างไร กล่าวถึงความสำคัญแลเหตุผลที่ทำให้เลือกศึกษาในปัญหานั้น
2.               วัตถุประสงค์ของการวิจัย  เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถือว่าเป็นหัวใจของการทำวิจัย เพราะเป็นการเขียนเพื่อบอกให้ทราบว่าผู้วิจัยต้องการจะศึกษาอะไร กับใครที่ไหน เมื่อไร วิธีการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยจะต้องเขียนให้เฉพาะเจาะจง มีความชัดเจน การเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนทำให้ทราบถึงตัวแปรที่ศึกษาตลอดจนรูปแบบของการวิจัยด้วย

ตัวอย่าง วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1.               เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร
2.               เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร
3.               เพื่อศึกษาผลกระทบทางสังคมจากพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น

3.  สมมติฐานการวิจัย เป็นการคาดคะเน คำตอบของปัญหาไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะต้องทดสอบว่าสมมติฐานนั้นเป็นจริงหรือไม่ การตั้งสมมติฐานจึงต้องตั้งในลักษณะที่สามารถทดสอบได้ สมมติฐานการวิจัยได้มาจากสภาพปัญหา ดังนั้นการเขียนสมมติฐานจึงต้องเขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย และต้องเขียนเป็นข้อความที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรให้ชัดเจน
ตัวอย่างสมมติฐานการวิจัย
1.               ปัจจัยส่วนบุคคลมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น
2.               พฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนมีผลแตกต่างกันตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ของครอบครัว และสภาพการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน

                4. ขอบเขตการวิจัย จะต้องเขียนให้ชัดเจนว่า การวิจัยเรื่องนั้นมีขอบข่ายของการศึกษากว้างมากน้อยเพียงใด เช่น การกำหนดขอบเขตของประชากร สถานที่ ตัวแปรที่ศึกษา วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ ช่วงเวลา เป็นต้น
ตัวอย่างการเขียนขอบเขตของการวิจัย
ตัวแปร
1.               ตัวแปรอิสระ
1.               ปัจจัยส่วนบุคคล
1)              เพศ
2)              อายุ
3)              ระดับการศึกษา
4)              รายได้ครอบครัว
5)              จำนวนผู้พักอาศัยในบ้าน
2.               ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเที่ยวกลางคืน ประกอบด้วย
1)              ความต้องการเข้าสังคม
2)              ความต้องการรู้จักเพศตรงข้าม
3)              ความสนุกสนาน
4)              ความต้องการดื่มแอลกอฮอล์
5)              การชักชวนของเพื่อน
6)              บรรยากาศภายในร้าน
7)              การแสดงภายในร้าน
8)              ชื่อเสียงของสถานบันเทิง
9)              ปัญหาครอบครัว
2.     ตัวแปรตาม คือ พฤติกรรมในการเที่ยวกลางคืน ประกอบด้วย
1)    อายุเริ่มเที่ยวกลางคืนครั้งแรก
2)   ความถี่ในการเที่ยวกลางคืน
3)   จำนวนเพื่อนที่ไปเที่ยวต่อครั้ง
4)   ประเภทเครื่องดื่มที่นิยมดื่ม
5)   ค่าใช้จ่ายต่อคน
6)   ช่วงเวลาในการเริ่มไปเที่ยว
7)   ช่วงเวลาที่เลิกกลับบ้าน
8)   ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อครั้ง
9)   วันที่นิยมไปเที่ยว
ประชากรการวิจัย
                ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีโดยกำหนดขอบเขตพื้นที่เฉพาะกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต จากข้อมูลของกรมการปกครองเขตดุสิตมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 121,225 คน โดยแบ่งออกเป็นสถานะเจ้าบ้าน 14,526 คน หัวหน้าครอบครัว 514 คน และสถานะผู้อาศัย 106,175 คน ประมาณประชากรการวิจัยประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดในเขตดุสิต จะได้จำนวนประชากรวิจัยประมาณ 18,000 คน
                การหาขนาดของกลุ่มตัวอย่าง (Sample Size) เพื่อเป็นตัวแทนของประชากร กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้ตารางของยามาเน่ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% จำนวนประชากร 18,000 คน จะได้ขนาดตัวอย่าง 392 คน
เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล
                เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม (Questionnaires)
                แบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
                ส่วนที่ 1 ใช้สอบถามเกี่ยวกับข้อมูลลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ชนิดแบบสอบถามเป็นแบบสำรวจรายการ (checklist)
                ส่วนที่ 2 เป็นการสอบถามเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเที่ยวกลางคืนของนักศึกษาในกรุงเทพฯ (ศึกษาเฉพาะเขตดุสิต) ชนิดแบบสอบถามเป็นแบบจัดอันดับคุณภาพ (rating scale)
                ส่วนที่ 3 เป็นแบบสอบถามเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมในการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่นในกรุงเทพฯ (ศึกษาเฉพาะเขตดุสิต) ชนิดแบบสอบถามเป็นแบบสำรวจรายการ (checklist)
วิธีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                ผู้ทำวิจัยทำการทดสอบเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งต้องตรวจสอบความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่น
1.               การทดสอบความเที่ยงตรง (Validity) โดยการตรวจสอบเป็นรายข้อ และพิจารณาเนื้อหาของแบบสอบถามว่า ครอบคลุมปัจจัยที่สอดคล้องกับสมมติฐานในการวิจัยหรือไม่ ซึ่งเป็นการทดสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) เลือกข้อคำถามที่มีค่า IOC มากกว่า 0.5 มาใช้
2.               การทดสอบความเชื่อมั่น (Reliability) โดยนำแบบสอบถามไปทดลองใช้ (Pre-test) กับตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประชากรที่จะทำการศึกษาวิจัย 40 ชุด เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟา (Coefficient alpha) ด้วยวิธีของ Cronbach Coefficient Alpha Reliability ซึ่งค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาที่ได้มีค่ามากกว่า 0.7 จะหมายความว่าแบบสอบถามมีความน่าเชื่อถือ
ข้อตกลงเบื้องต้น (ถ้ามี)
                หมายถึง สภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการวิจัยซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับผลการวิจัย โดยที่ผู้วิจัยตกลงยอมรับสภาพการณ์นั้น เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการศึกษา วิธีการทดลองหรือข้อตกลงเกี่ยวกับตัวอย่าง

ข้อจำกัดของการวิจัย (ถ้ามี)
                อาจเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีน้อย การวัดความคิดเห็นของคนซึ่งควบคุมไม่ได้ ข้อจำกัดของการวิจัยจะช่วยในการตีความหมายของข้อมูลได้เป็นอย่างดีว่า ข้อค้นพบที่ได้นั้นอยู่ในวงจำกัดแค่ไหน
นิยามศัพท์เฉพาะ (ถ้ามี)
                ผู้วิจัยจะต้องให้นิยามศัพท์เฉพาะ และคำบางคำที่ใช้ในการวิจัยเพื่อความเข้าใจตรงกัน ความหมายที่ให้ต้องเป็นความหมายเฉพาะเรื่องของการวิจัยนั้น ๆ หากเป็นคำศัพท์ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องให้คำนิยาม
                5.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  ผู้วิจัยจะต้องชี้แจงให้ทราบถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ช่วยให้ผู้พิจารณาโครงการวิจัยตัดสินว่าเค้าโครงการวิจัยนั้นควรอนุมัติให้ทำหรือไม่ หรือควรจะให้ทุนอุดหนุนหรือไม่ การเขียนจะต้องให้สอดคล้องกับความเป็นมา หรือความสำคัญของปัญหาในตอนต้น
บทที่ 2 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การเขียนวรรณกรรมหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นการเขียนรวบรวมสิ่งที่ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าซึ่งได้แก่ ทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริงและผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย เนื้อหาในส่วนนี้ ผู้วิจัยยังนำไปใช้ในการกำหนดกรอบแนวคิดในการทำวิจัยและอภิปรายผลการวิจัยในบทท้ายของการเขียนรายงานการวิจัยอีกด้วย
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย เป็นการเขียนเพื่อบอกขั้นตอนในการทำวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ควรระบุประชากรให้ชัดเจนว่าเป็นใคร ที่ไหน พร้อมระบุจำนวนประชากรด้วย ในการวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง หรือจากประชากรทั้งหมด ถ้าศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างก็ต้องเขียนแสดงขั้นตอนในการสุ่มตัวอย่างจากประชากรอย่างละเอียด ระบุขั้นตอนในการสุ่มให้ชัดเจน พร้อมทั้งระบุจำนวนของกลุ่มตัวอย่างด้วย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย จะต้องกล่าวตั้งแต่ชื่อเครื่องมือ ลักษณะเครื่องมือ ระบุขั้นตอนในการสร้างเครื่องมืออย่างละเอียด พร้อมทั้งวิธีการให้คะแนนและวิธีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการเขียนบอกวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น เก็บข้อมูลด้วยตนเอง หรือต้องใช้ผู้ช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือใช้วิธีการส่งทางไปรษณีย์
การวิเคราะห์ข้อมูล ควรจะอธิบายถึงวิธีการและแผนงานในการจัดกระทำกับข้อมูล จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร จะนำสถิติใดมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนอธิบายเกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ควรจะมีลำดับการเสนอให้สอดคล้องกับลำดับของสมมติฐาน เช่น อาจจะเขียนเป็นข้อ ๆ ตามสมมติฐาน
แผนการวิจัย นักวิจัยควรกำหนดตารางเวลาในการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อที่จะทำให้การใช้เวลาในการวิจัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                ลักษณะงาน                                                                            ช่วงเวลาที่ใช้         
1.               การสร้างเครื่องมือ                                                         เดือน...พ.ศ.... ถึง เดือน... พ.ศ....
2.               การเก็บรวบรวมข้อมูล                                                 เดือน...พ.ศ.... ถึง เดือน... พ.ศ....
3.               การแจกแจงข้อมูล                                                         เดือน...พ.ศ.... ถึง เดือน... พ.ศ....
4.               การวิเคราะห์และการแปลความหมายข้อมูล                              เดือน...พ.ศ.... ถึง เดือน... พ.ศ....
5.               การสรุปผลและการเขียนรายงานการวิจัย                   เดือน...พ.ศ.... ถึง เดือน... พ.ศ....
งบประมาณ นักวิจัยควรจะกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยแยกแยะรายละเอียดเป็นรายการต่าง ๆ เช่น ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ฯลฯ ควรจะกำหนดงบประมาณให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
บรรณานุกรม การเขียนเค้าโครงการวิจัยจะต้องเสนอบรรณานุกรมให้ทราบด้วย บรรณานุกรมจะประกอบด้วยรายชื่อหนังสือ วารสารต่าง ๆ วิทยานิพนธ์ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบในการทำวิจัยครั้งนี้
ประวัติผู้วิจัย การเขียนประวัติของนักวิจัยและผู้ร่วมงาน (ถ้ามี) โดยระบุวุฒิการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ผลงานวิชาการ ฯลฯ
ตัวอย่างรูปแบบเค้าโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
1.               คำนำ (INTRODUCTION)
                        คำนำ
                        สภาพของปัญหา (problem statement)
                        วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (literature review)
                        ขอบเขตของการวิจัย (scope of research)
2.               วัตถุประสงค์ (OBJECTIVES)
3.               วิธีดำเนินการวิจัย
                        ประเภทของข้อมูล
                        วิธีการเก็บข้อมูล
                        วิธีวิเคราะห์
                        สมมติฐาน (ถ้ามี)
4.               การวางแผนงานวิจัย (RESEARCH PLAN)
5.               งบประมาณ
                        ค่าตอบแทน
                        ค่าใช้สอย
                        ค่าวัสดุ
                        ค่าครุภัณฑ์
6.               ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย
                        สิ่งใหม่ที่คาดว่าจะค้นพบ
                        ประโยชน์ในด้านวิชาการ
                        ด้านอื่น ๆ
7.               บรรณานุกรม (BIBLIOGRAPHY)
                        ภาษาไทย
                        ภาษาอังกฤษ
8.               ประวัตินักวิจัย
สำหรับการนำเสนอเค้าโครงวิจัยนั้น นอกจากจะเสนอในรูปแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นักวิจัยอาจนำบทที่ 1-3 ของรายงานการวิจัยมาเสนอเป็นเค้าโครงก่อนนำเสนอการวางแผนการวิจัยก็ได้
        บทที่ 1    บทนำ
        บทที่ 2    วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
        บทที่ 3    วิธีดำเนินการวิจัย
                        การวางแผนการวิจัย
                        งบประมาณ
        บรรณานุกรม
        ภาคผนวก
        ประวัตินักวิจัย
ตอนที่ 2 การเขียนรายงานการวิจัย
หลักเกณฑ์ในการเขียนรายงานการวิจัย
1.               ข้อความที่เขียนในการเสนอรายงานต้องเขียนให้สั้น ๆ และตรงจุด
2.               ควรใช้ภาษาที่ผู้อ่านเข้าใจชัดเจน และไม่วกวน
3.               ต้องไม่เขียนเกินความเป็นจริง/ ต้องมีการกล่าวอ้างแหล่งข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ มาสนับสนุน
4.               ต้องมีการตรวจงานอย่างละเอียด
ขั้นตอนการเขียนรายงานการวิจัย
1.               จัดทำโครงร่างรายงานการวิจัย
2.               การเขียนรายงานฉบับร่าง
3.               การแก้ไขปรับปรุง
4.               การเขียนรายงานฉบับจริง
ลักษณะของรายงานการวิจัย
1.               การรายงานด้วยวาจา
2.               การรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร
3.               การรายงานด้วยแผนภูมิ
ประเภทของรายงานการวิจัย
1.               รายงานทางวิชาการหรือรายงานที่เป็นแบบแผน
2.               รายงานทั่ว ๆ ไป เน้นรายงานที่ไม่มีแบบแผน
หลักการเขียนรายงาน
1.               รายงานต้องมีรูปแบบถูกต้องสะอาดเรียบร้อย
2.               ต้องวางรูปเล่มและโครงเรื่องอย่างเหมาะสม
3.               รายงานที่ใช้ต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่สับสนวกวน
4.               การสรุปลงความเห็นต้องร่างอยู่บนรากฐานของความเป็นจริง
5.               อ้างถึงแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้อง
6.               ต้องมีการสรุปผลในการวิจัย และมีข้อเสนอแนะของผู้ทำวิจัยด้วย
ส่วนประกอบของรายงานการวิจัย รูปแบบของรายงาน แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
1.               ส่วนประกอบตอนต้นหรือส่วนนำ (Preliminaries or Front Matters) ประกอบด้วย
-                    ปกนอก (Cover or binding)
-                    ใบรองปก (Fly leaf)
-                    หน้าชื่อเรื่อง หรือปกใน (Tile page)
-                    หน้าอนุมัติ (Approval sheet)
-                    บทคัดย่อ (Abstract)
-                    กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements)
-                    สารบัญ (Table of contents)
-                    สารบัญตาราง (List of tables)
-                    สารบัญแผนภูมิหรือภาพประกอบ (List of figures of illustrations) (ถ้ามี)
-                    สารบัญแผนที่ (List of maps) (ถ้ามี)
-                    คำอธิบายสัญลักษณ์และคำย่อที่ใช้ในวิทยานิพนธ์ (Abbreviation) (ถ้ามี)
2.               ส่วนเนื้อเรื่อง / เนื้อหา (Content / Text) ประกอบด้วย
ส่วนที่เป็นเนื้อหา
                บทที่ 1    บทนำ (Introduction)
                บทที่ 2    วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Review of related literature)
                บทที่ 3    วิธีดำเนินการวิจัย (Methodology)
                บทที่ 4    ผลการวิจัย หรือผลการวิเคราะห์ข้อมูล (Finding and results)
                บทที่ 5    สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ (Conclusions, discussions and recommendations)
ส่วนประกอบในเนื้อหา ได้แก่
-                 เชิงอรรถ (Footnotes)
-                 ตาราง (Tables)
-                 ภาพประกอบ (Figures) แผนภูมิ (Charts) แผนภาพ (Diagrams) แผนที่ (Maps)
3.               ส่วนประกอบตอนท้ายหรือส่วนอ้างอิง (Supplementary or reference matters)
-                  ภาคผนวก (Appendix)
-                  บรรณานุกรม (Bibliography) หรือรายชื่อเอกสารอ้างอิง (Reference list)
-                  ประวัติผู้เขียน (Vita)
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
1.               การบรรยาย (Description) ในสถิติบรรยายจะบรรยายถึงจุดที่เด่นที่สุด จุดที่ด้อยที่สุด และจุดที่น่าสนใจของตาราง ส่วนในสถิติอนุมานจะบรรยาย ผลการทดสอบว่าพบนัยสำคัญหรือไม่ที่ระดับนัยสำคัญเท่าไร
2.               การแปลผล (Interpretation) เป็นการนำการบรรยายผลที่ได้จากการทดสอบมาแปลผลว่าสอดคล้องหรือแตกต่างกับสมมติฐานทางสถิติที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร
ลำดับของการนำเสนอ
1.               แสดงตารางที่อธิบายถึงลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ได้
2.               แสดงตารางลักษณะของตัวแปรต่าง ๆ ในกลุ่มตัวอย่างที่เก็บรวบรวมได้
3.               แสดงตารางผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับของวัตถุประสงค์การวิจัยและสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้
บทที่ 5 สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
ส่วนที่ 1 สรุปผลการวิจัย
1.               เป็นการสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในบทที่ 4 โดยเขียนสรุปตามลำดับของวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย
2.               เขียนให้ได้ใจความกะทัดรัด ชัดเจนและตรงไปตรงมา
3.               ไม่เพิ่มเติมความคิดเห็นของผู้วิจัย
ส่วนที่ 2  การอภิปรายผลการวิจัย
1.               เพื่อตีความหมาย ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
2.               เพื่อประเมินข้อค้นพบที่ได้
3.               เพื่อเปรียบเทียบข้อค้นพบกับผลการวิจัยที่ผ่านมา
4.               เพื่อเปรียบเทียบข้อค้นพบทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 3 การเขียนข้อเสนอแนะ
1.               เป็นสาระที่เกิดขึ้นจากผลการวิจัย มิใช่ข้อคิดเห็นหรือจากสามัยสำนึกใด ๆ ของผู้วิจัย จะต้องใช้ข้อมูลจาก         การวิจัยเป็นพื้นฐานในการเขียน
2.               เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่รู้กันอยู่ทั่วไป
3.               ปฏิบัติได้ภายใต้ขอบเขตหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น ขอบเขตความสามารถ เงิน เวลา
4.               มีความต่อเนื่องกับงานวิจัย หรือเป็นการต่อยอดงานวิจัย ไม่ควรนำเรื่องที่นอกเหนือผลงานวิจัยมาเสนอแนะไว้
(ดูตัวอย่างรายงานการวิจัยใน Handout หน้า 80-93 เองนะคะ)
                ส่วนที่เขียนให้ทั้งหมดข้างต้น เป็นสิ่งที่อยู่ใน Handout ส่วนสุดท้ายค่ะ (แต่จะมีแถมให้ในส่วนที่เป็น lecture ของอาจารย์ในห้องวันที่ 20 ต.ค.50 อยู่ข้างท้ายนี้)

เค้าโครงการวิจัย
บทที่ 1 บทนำ
-        ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
-        วัตถุประสงค์ของการวิจัย
-        สมมติฐานของการวิจัย
-        ขอบเขตของการวิจัย (ประกอบด้วย ประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรที่ศึกษา)
-        นิยามศัพท์เฉพาะ
-        ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
บทที่ 2 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
1.    ....................
2.    ....................
3.    ....................
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย
-        ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
-        เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
-        วิธีสร้างและการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ (หา Content validity และ reliability)
-        สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
-           แผนการวิจัย
-           งบประมาณ
-           บรรณานุกรม
-           ประวัติผู้วิจัย

รายงานการวิจัย
บทที่ 1 บทนำ
-        ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
-        วัตถุประสงค์ของการวิจัย
-        สมมติฐานของการวิจัย
-        ขอบเขตของการวิจัย (ประกอบด้วย ประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรที่ศึกษา)
-        นิยามศัพท์เฉพาะ
-        ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
บทที่ 2 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
4.    ....................
5.    ....................
6.    ....................
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย
-        ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
-        เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
-        วิธีสร้างและการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ (หา Content validity และ reliability โดยให้ระบุค่า IOC  และ reliability ที่คำนวณได้ด้วย)
-        สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
                ตอนที่ 1 .......(ใส่ข้อมูลว่า เรื่องเกี่ยวกับอะไร)............       (ตารางที่ ...........)
                ตอนที่ 2 ......................................................................           (ตารางที่ ...........)
                ตอนที่ 3 ......................................................................           (ตารางที่ ...........)
สมมติฐานทางสถิติ
                H0
                H1 (= สมมติฐานการวิจัย) (ถ้าปฏิเสธ H0 แสดงว่า ผลการวิจัยสอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัย ก็คือ สมมติฐานการวิจัยเป็นจริง)
บทที่ 5 สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
-                    บรรณานุกรม
-                    ภาคผนวก
-                    ประวัติผู้วิจัย

ปก
                                                                เค้าโครงการวิจัย (หรือ รายงานการวิจัย)

                                                                                           เรื่อง
                                                                ...............................................................

                                                                                           เสนอ
                                                                ...........................................................

                                                                                             โดย
                                                                ................................................................
                                                                                          และคณะ*

                                               งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา BM606 ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ*
                                                          คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
                                                     โครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่**
                                                                 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 รุ่น 5 กลุ่ม 2**
                                                                                มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น